วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิธีการแปลงเพศปลากัด


"ปลากัด" ปัจจุบันได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เนื่องจากเพศผู้นั้นจะมีสีสันสดใสสวยงาม รวมทั้งยังมีครีบหูยาวและใหญ่กว่าเพศเมีย จากลักษณะนี้จึงมีการใช้ต่อสู้กันเพื่อเป็นเกมกีฬาและการพนัน จึงทำให้เพศผู้เป็นที่นิยมในการเลี้ยงมากกว่า
แต่จากการศึกษาพบว่าอัตราส่วนเพศผู้และเพศเมียที่ได้จากการเพาะพันธุ์เป็น 1 ต่อ 1 ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อการจำหน่าย จึงต้องศึกษาเทคนิคในการเพาะพันธุ์ที่เหมาะสมและลดต้นทุน เพื่อให้ได้เพศที่ตรงกับความต้องการของตลาด
การใช้ฮอร์โมนในการแปลงเพศปลาหรือในการผลิตปลาเพศใดเพศหนึ่ง กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่วิธีการนี้ก็ยังมีข้อจำกัดการอยู่มากทั้งในด้านราคาและวิธีใช้เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นความรู้ทางด้านการใช้ฮอร์โมนน้อยอยู่ ดังนั้น อาจได้ "ปลากัด" ที่ไม่ตรงกับความต้องการ ต้องสั่งซื้อฮอร์โมนมาจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการเสียดุลการค้า
คณะวิทยาศาสตร์การประมง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลตรัง โดย "อุไรวรรณ วัฒนกุล"จึงทำ "โครงการศึกษาสารสกัดจากใบมังคุดต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศในปลากัด" ขึ้น และได้ผลออกมาน่าสนใจยิ่ง
การวิจัยในครั้งนี้ได้มีการนำ "ใบมังคุด" ทั้งสดและแห้ง มาทำการทดลองในแต่ละความเข้มข้นว่ามีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศหรือสัดส่วนเพศมากน้อยแค่ไหน โดยนำมาสกัดเป็นน้ำชาเพื่อเลี้ยง "ปลากัด" ตั้งแต่แรกเกิดจนสามารถแยกเพศได้ เพื่อเป็นแนวทางในการนำฮอร์โมนจากธรรมชาติมาใช้ทดแทน หากได้ผลก็จะเป็นประโยชน์ในการนำมาเปลี่ยนเพศปลาหรือทำหมันปลาเพื่อลดกิจกรรมการสืบพันธุ์และส่งผลต่อการเพิ่มอัตราเจริญเติบโต ตลอดจนสามารถนำไปใช้ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้
สำหรับวิธีการศึกษานั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนได้แก่ การเตรียมสารสกัดจาก "ใบมังคุดแห้ง" ด้วยการ
ทดลองเลี้ยงปลาพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศและพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ในอัตราส่วนน้ำเปล่าต่อน้ำสกัดจาก"ใบมังคุด" เท่ากับ 1 ต่อ 1 จนเมื่อลูกปลามีอายุได้ 3-4 วันจึงให้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นให้ไรแดงและลูกน้ำจนกระทั่งปลาโต รวมทั้งการเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบความแตกต่างของอัตราส่วนเพศ ด้วยวิธี "Chi-Square test"
ทั้งนี้ เมื่อเลี้ยง "ปลากัด" ด้วยน้ำหมักจาก "ใบมังคุดสด" ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ กันเป็นเวลา 30 วัน พบว่า สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 25 กรัม มีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศปลามากที่สุด นั่นคือ เพศผู้ คิดเป็น 76.79% ในขณะที่เพศเมีย คิดเป็น 23.21% เท่านั้น ส่วนสารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 70 กรัม จะมีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะปลาเป็นเพศเมีย คิดเป็น 76.81% ในขณะที่เพศผู้ คิดเป็น 23.19% เท่านั้น สำหรับสารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 50 กรัม ไม่มีความแตกต่างระหว่างสัดส่วนเพศ แต่ถ้าใช้สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 100 กรัม ก็จะทำให้ "ปลากัด" ไม่สามารถทนได้และเสียชีวิตไปทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเลี้ยงปลาด้วยน้ำหมักจาก "ใบมังคุดแห้ง" กลับไม่พบว่ามีผลต่ออัตราการเปลี่ยนเพศและสัดส่วนเพศให้เป็นเพศผู้ ไม่ว่าจะมีสารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 0 กรัม 25 กรัม 50 กรัม 70 กรัม หรือ 100 กรัม โดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงด้วยสารที่ระดับความเข้มข้น 25 กรัมนั้นพบว่า การเปลี่ยนเพศมีความแตกต่างกันน้อยมากคือ เพศผู้ 42.08% และเพศเมีย 57.92% ดังนั้นปลาที่เลี้ยงด้วยสารสกัด "ใบมังคุดแห้ง" ทุกชุดการทดลองจะมีอัตราส่วนเพศเมียสูงกว่าเพศผู้ และไม่สามารถแปลงให้เป็นเพศผู้ได้
โดย "อุไรวรรณ วัฒนกุล" มีข้อเสนอแนะอันสืบเนื่องมาจากงานวิจัยว่า ควรจะมีการทดลองระดับความเข้มข้นของสารสกัดไม่ให้เกิน 25 กรัม เพื่อหาระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนเพศ รวมทั้งควรทำการศึกษาการใช้ "ใบมังคุด" ในการแปลงเพศปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่ต้องการเพศเมียเป็นหลัก และควรจะมีการศึกษาทดลองหมัก "ปลากัด" ตั้งแต่ยังเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อดูถึงประสิทธิภาพในการที่จะเปลี่ยนเพศ
ผลของโครงการในครั้งนี้สรุปได้ชัดเจนว่า สารสกัด "ใบมังคุดสด" ที่ระดับความเข้มข้น 25กรัมนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะ "ปลากัด" ให้เป็นเพศผู้มากที่สุด ถือเป็นข่าวดีสำหรับทั้งผู้ขายและผู้เลี้ยงที่จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงามและตรงกับความต้องการ แม้จะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ที่อาจจะดูแปลกๆ กันไปบ้างก็ตามที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น