วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โรคที่พบในปลากัด และการป้องกันรักษา

ปลากัดที่เลี้ยงถูกวิธีมักไม่ค่อยเป็นโรค แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมัน ( อุณหภูมิลดต่ำลง น้ำสกปรก ) ปลากัดก็จะเป็นโรคได้ โรคที่มัก พบในปลากัด มีดังนี้
โรคจุดขาว ( White spot disease )
เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวที่ชื่อว่า Ichthyophthirius multifilis นิยมเรียกทั่วไปว่า " อิ๊ค " เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่า ทำให้ปลาเกิดโรคในปลา ตัวอ่อนของ " อิ๊ค " จะฝังตัวเข้าไปอยู่ใต้เยื่อบุผิวบริเวณลำตัวและเหงือก ทำให้เห็นบริเวณนั้นเป็นจุดขาว ๆ ขนาดประมาณ 0.5 -1.0มม. เมื่ออิ๊คเจริญเต็มที่จะหลุดออกจากตัวปลา ว่ายน้ำเป็นอิสระและจะสร้างเกราะหุ้มตัว มีการแบ่งเซลล์ขยายพันธุ์ รวดเร็วเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า " โทไมท์ " ( Tomite ) ในเกราะหนึ่งจะมีโทไมท์ตั้งแต่500 -2,000 ตัว เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมเกราะจะแตกออก โทไมท์ก็จะว่ายน้ำไปเกาะที่ตัวปลาต่อไป มักจะพบโรคจุดขาวระบาด ในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจากสูงเป็นต่ำหรือต่ำเป็นสูง การรักษาที่ได้ผลดี คือ ใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 25 - 30 ส่วนในล้านสูง(ppm) ผสมกับมาลาไคท์กรีน 0.1 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3 - 5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนน้ำ

โรคสนิม ( Velvet disease )
เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชนิดแส้ ( Flagellum ) มีรูปกลมรี มีชื่อว่า Oodinium sp. อาการของโรคนี้คือ ตามผิวหนังปลาจะมีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาล กระจายเป็นหย่อม ๆ เนื่องจากมี Oodinium เกาะอยู่ พบปรสิตนี้ตามลำตัวและเหงือก การป้องกัน และกำจัด ควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1 % แช่ปลาไว้นาน 24 ชั่วโมง และควรทำซ้ำทุก 2 วัน หลังจากเปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาออกหมดแล้ว

โรคที่เกิดจากปลิงใส
ปลิงใสที่พบมีอยู่ 2 ชนิด คือ Gryodactylus sp. และ Dactylogyrus sp. อาการของโรคที่พบในปลากัด คือ ส่วนหัวของปลาจะซีด ส่วนลำตัวของปลามีสีเข้ม และมีอาการของครีบกร่อนร่วมด้วยพบปรสิตนี้ตามลำตัวและเหงือก การป้องกันและกำจัดควรใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30 - 50 ส่วนในล้านส่วน หรือ Dipterex เข้นข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ตลอดไป

โรคที่เกิดจากเชื้อรา
โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค มักจะพบหลังจาก ปลาบอบช้ำเนื่องจากการจับ เชื้อราที่มักพบเสมอคือ Ssprolegnia sp. อาการของโรคจากเชื้อรา คือ จะเห็นเป็นปุยขาวคล้ายสำลีบริเวณที่เป็นโรค สำหรับการรักษาใช้มาลาไคท์กรีน เข้มข้น 0.1 - 0.25 ส่วนในล้านส่วนร่วมกับฟอร์มาลินเข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3 วัน

โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
อาการที่ปรากฏคือ มีอาการท้องบวม และมีของเหลวในช่องท้องมาก การรักษา ใช้แช่ในยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเทตราไซคลิน หรือ คลอแรมฟินิคอลที่มีความเข้มข้น 10 - 20 ส่วนในล้านส่วนโดยแช่ติดต่อกัน 3 - 5 วัน และต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน แล้วเติมยาให้มีความเข้มข้นเท่าเดิมทุกครั้งหรือใช้เกลือแกงเข้มข้น 0.5 %

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น